script data-ad-client="ca-pub-4285623555606205" async src="https://pagead2.googlesyndication.com/pagead/js/adsbygoogle.js"> หลังเที่ยงคืน 5 มิ.ย. ถึงเช้ามืด 6 มิ.ย. เกิดจันทรุปราคาเงามัว - onlinenewscm

หลังเที่ยงคืน 5 มิ.ย. ถึงเช้ามืด 6 มิ.ย. เกิดจันทรุปราคาเงามัว

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์     วิจัย และนวัตกรรม เผยหลังเที่ยงคืนวันที่ 5  มิ.ย. เข้าสู่รุ่งเช้าของวันที่ 6 มิ.ย. 63 จะเกิดปรากฏการณ์จันทรุปราคาเงามัว ช่วงเวลาประมาณ 00:46-04:04 น. ตามเวลาในประเทศไทย เงามัวบังมากที่สุด              เวลาประมาณ 02:24 น. ดวงจันทร์เต็มดวงจะสว่างลดลงเพียงเล็กน้อย สังเกตด้วยตาเปล่าได้ยาก อีกทั้งยังตรงกับช่วงฤดูฝนบางพื้นที่อาจมีฝนตกหนัก เมฆหนา สภาพท้องฟ้าไม่อำนวย

ภาพปรากฏการณ์จันทรุปราคาเงามัว (ภาพขวา) เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2563

นายศุภฤกษ์  คฤหานนท์ หัวหน้างานบริการวิชาการดาราศาสตร์ สดร.  เปิดเผยว่า “ช่วงหลังเที่ยงคืนวันศุกร์ที่ 5 มิถุนายน เข้าสู่รุ่งเช้าวันเสาร์ที่ 6 มิถุนายน 2563 เป็นคืนดวงจันทร์เต็มดวง จะเกิดปรากฏการณ์จันทรุปราคาเงามัว เริ่มตั้งเเต่เวลาประมาณ 00:46 น. ดวงจันทร์เคลื่อนที่เข้าสู่เงามัวของโลก ความสว่างของดวงจันทร์จะค่อย ๆ ลดลงเล็กน้อย จะมองเห็นดวงจันทร์เต็มดวงมีสีคล้ำ  เงามัวจะบังมากที่สุด ในเวลาประมาณ 02:24 น. จนกระทั่งสิ้นสุดปรากฏการณ์ เวลาประมาณ 04:04 น.  รวมเวลาเกิดปรากฏการณ์จันทรุปราคาเงามัวในครั้งนี้นาน 3 ชั่วโมง 18 นาที สังเกตด้วยตาเปล่าได้ไม่ชัดเจนนัก เนื่องจากดวงจันทร์โคจรเข้าไปในเงามัวของโลกบางส่วน ไม่ได้ผ่านเข้าไปในบริเวณเงามืด ดวงจันทร์จึงไม่เว้าแหว่ง ยังคงมองเห็น        ดวงจันทร์เต็มดวงแต่มีความสว่างในส่วนที่อยู่ในเงามัวลดลงเท่านั้น หากมองผ่านกล้องโทรทรรศน์หรือถ่ายภาพเปรียบเทียบความสว่างขณะเกิดปรากฏการณ์จะเห็นการเปลี่ยนแปลงความสว่างของดวงจันทร์ได้ชัดเจนยิ่งขึ้น

ปรากฏการณ์จันทรุปราคามักเกิดขึ้นนานนับชั่วโมง เพราะเงาของโลกมีขนาดใหญ่มาก  ต่างจากปรากฏการณ์สุริยุปราคาเต็มดวงที่สังเกตได้เพียงไม่กี่นาทีเท่านั้น สำหรับปรากฏการณ์จันทรุปราคา     ในประเทศไทยครั้งต่อไป จะเกิดปรากฏการณ์จันทรุปราคาเงามัว ในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2563 นายศุภฤกษ์ กล่าวปิดท้าย