สภาลมหายใจเชียงใหม่ แถลงการณ์ไม่เห็นด้วยกับคำสัมภาษณ์ รมว.ทรัพย์ฯ เรื่องไฟป่ามลพิษ
สภาลมหายใจเชียงใหม่ ออกแถลงการณ์ไม่เห็นด้วยกับคำสัมภาษณ์ ของ นายวราวุธ ศิลปะอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนทางสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส กรณีการแก้ปัญหามลพิษฝุ่นละอองและไฟไหม้ในภาคเหนือ โดยในเอกสารแถลงการณ์ระบุว่า
จากกรณีที่ นายวราวุธ ศิลปะอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้เข้าสาย ให้สัมภาษณ์สด รายการร้องทุก(ข์)ลงป้ายนี้ ทางสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส เช้าวันที่ 9 เมษายน 63 ถึงการแก้ปัญหามลพิษฝุ่นละอองและไฟไหม้ในภาคเหนือ มีข้อความหลายตอน ที่ขัดแย้งกับความเป็นจริง และความเข้าใจของประชาชน สภาลมหายใจเชียงใหม่ไม่สบายใจกับคําสัมภาษณ์ดังกล่าว ที่ไม่ได้แสดงเจตจํานง ในการพยายามแก้ไขปัญหามลพิษฝุ่นควัน ซึ่งเป็นปัญหาเรื้อรังของภาคเหนือ มีการเบี่ยงเบนประเด็น ทําให้เกิดการ ไขว้เขวเข้าใจผิดจากสังคม
สภาลมหายใจเชียงใหม่ เห็นแย้งกับคําสัมภาษณ์ที่ทําให้เข้าใจผิด เช่นพิธีกรถามเรื่องจุดไฟไหม้ (ฮอตสปอท) ดับไปกี่จุด นายวราวุธ บอกว่าไฟไหม้ทุกจุดในภาคเหนือ เราใช้เวลาไม่นานก็สามารถดับไฟได้ทุกจุด “ศักยภาพของเรา ทั้งเจ้าหน้าที่และอาสาสมัครสามารถดับไฟได้ทุกจุดในเวลาไม่นาน” ทั้งๆ ที่ข้อเท็จจริงตลอดสามเดือนมานี้ มีจํานวน ไฟเกิดขึ้นมากบางวันที่จังหวัดเชียงใหม่เกิน 600 จุด รายงานประจําวันของเจ้าหน้าที่ยอมรับว่าไม่สามารถดับไฟ ต้องคุมเชิงดูไว้ข้ามคืนในหลายครั้ง คําสัมภาษณ์ ชี้สาเหตุแค่มีคนเข้าไปหาของป่า มีคนลอบจุด ทําให้ผู้ฟังไขว้เขว ถึงสาเหตุหลักของปัญหาการเกิดไฟในภาคเหนือ ที่ไม่ใช่มาจากคนลอบเข้าไปจุดเพื่อหาของป่า หรือจากชาวบ้าน เพียงด้านเดียว ยังมีสาเหตุอื่นอีก ที่ไม่กล่าวถึง
พิธีกรถามถึงการสนับสนุนด้านกําลังพล ขวัญกําลังใจ ปัจจัยให้กับเจ้าหน้าที่ดับไฟป่าอย่างไร นายวราวุธ รีบปฏิเสธว่าไม่มีเจ้าหน้าที่ของกระทรวงฯ เสียชีวิต ในส่วนเจ้าหน้าที่ดับไฟป่าสังกัดกระทรวงฯเสียชีวิต(ผูกคอ) ไม่ได้มาจากสาเหตุการดับไฟ โดยจําแนกผู้เสียชีวิต ทั้งพลทหาร ผู้ใหญ่บ้าน และประชาชนอาสา 4 รายที่เสียชีวิตไป ก่อนหน้าว่า “ไม่ใช่เป็นเจ้าหน้าที่” การจําแนกแยก เขาแบ่งเรา ระหว่างเจ้าหน้าที่ดับไฟป่าของกระทรวงฯ ว่ามีสถานะเป็นเจ้าหน้าที่ ขณะที่ราษฎรจิตอาสา พลทหาร และผู้ใหญ่บ้าน ไม่ได้เป็นเจ้าหน้าที่ เป็นการนิยามแบบแคบ เพราะเจ้าหน้าที่ดับไฟภายใต้ประกาศเขตพิบัติภัย ไม่ได้จํากัดเฉพาะเจ้าหน้าที่ดับไฟป่าของกระทรวง ทรัพยากรฯเท่านั้น การแบ่งสถานะว่าผู้อื่นและสังกัดอื่น ไม่ใช่เจ้าหน้าที่ จะทําให้เกิดความน้อยใจจากผู้ปฏิบัติงาน ภาคส่วนอื่นมากมาย ที่กําลังทําหน้าที่เสี่ยงภัยอยู่ภายใต้การระดมทุกภาคส่วนของสังคม ออกปฏิบัติการการเสียชีวิต ในหน้าที่ระหว่างปฏิบัติ การสะท้อนการขาดแคลนอุปกรณ์ระบบการสนับสนุนที่ดี รัฐบาลควรจะพิจารณาถึงจุดอ่อน ของระบบงานแก้ปัญหา ที่ยังเป็นอันตราย ไม่ใช่รีบปฏิเสธว่าผู้เสียชีวิตเหล่านั้นไม่ใช่เจ้าหน้าที่
นายวราวุธชี้แจงพิธีกรว่า การเสียชีวิตของเจ้าหน้าที่แขวนคอตัวเองมาจากสาเหตุอื่น ตัดประเด็นที่ ผู้บังคับบัญชาที่ดีควรจะสนใจทิ้งไป ผู้เสียชีวิตเขียนจดหมายกล่าวถึงสภาพการทํางาน “เด็กนายเด็กกู” เอาไว้ใน จดหมายสมควรจะสอบสวนข้อเท็จจริง ไม่ใช่ปัดทิ้งไปด่วนปฏิเสธความบกพร่องของระบบงาน
นายวราวุธกล่าวถึงกําลังเจ้าหน้าที่ของกระทรวงฯ ในภาคเหนือ มีถึง 7,000 นาย โยกจากภาคใต้ 3 พันนาย รวมกับเจ้าหน้าที่ทหาร ตํารวจ ฝ่ายปกครองที่สนธิกําลังกัน มีเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานในภาคเหนือ “นับหมื่นราย” สภาลมหายใจเชียงใหม่เห็นว่า คําอ้างดังกล่าวยกตัวเลขเกินจริง เพราะยอด “นับหมื่นราย” ที่ว่า ไม่ใช่ยอดจริง ของเจ้าหน้าที่ดับไฟและลาดตระเวนที่หมุนเวียนปฏิบัติหน้าที่ภาคสนามแต่ละช่วงเวลาจริง สามารถพิสูจน์ได้จาก การรายงานประจําวันของศูนย์ปฏิบัติการระดับจังหวัด ซึ่งแต่ละจุดปัญหาและแต่ละพื้นที่เกิดไฟ มีรายงานชุดปฏิบัติซ้ำ เดิมๆ หลักสิบนายเท่านั้น
นายวราวุธ บอกวาารัฐบาลไม่ได้นิ่งเฉย ให้น้ำหนักความสําคัญของปัญหานี้เทียบเท่าโรคระบาดโควิด-19 ซึ่งภาคประชาชนกลับเห็นเป็นตรงกันข้าม ภาพรวมของการแก้ปัญหาปีนี้ยังไม่ได้ทุ่มเทสรรพกําลังในระดับ “วาระแห่งชาติ” ปราศจากการเอาใจใส่ของระดับบริหารที่มีผลต่อกําลังใจและการทุ่มเททรัพยากรของผู้ปฏิบัติ ระบบราชการส่วนภูมิภาค แม้จะใช้การบริหารแบบซิงเกิ้ลคอมมานด์แต่หากฝ่ายนโยบายระดับบริหารในรัฐบาล สนับสนุนการจะบูรณาการทรัพยากรต่างๆ จากแต่ละหน่วยกรมกองเป็นไปอย่างยากลําบาก เอาแค่ยอดกําลังพล กว่าหมื่นนาย ที่นายวราวุธอ้างถึง เป็นยอดการโอนเจ้าหน้าที่ เฉพาะช่วงเวลาหรือตลอดระยะเวลา 3 เดือนกันแน่
สภาลมหายใจเชียงใหม่ มีความเห็นต่อการแก้ปัญหานี้ว่า ควรจะเปิดให้เกิดมีการส่วนร่วมระดมสรรพกําลัง สังคมอย่างกว้างขวาง โดยได้ยื่นข้อเสนอและแลกเปลี่ยนความเห็นผ่านผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ผู้ตรวจราชการ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมไปแล้ว หนึ่งในข้อเสนอก็คือการวางแบบข้อมูลระดมให้ทุกภาคส่วน ร่วมกันแก้ไข การเบี่ยงเบนข้อมูล กล่าวถึงปัญหาเพียงแง่มุมเดียวรังแต่จะก่อให้เกิดความเข้าใจผิดตามมา