ความทรงจำของสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ อนุสรณ์สถานมิตรภาพไทย-ญี่ปุ่น อ.ขุนยวม แม่ฮ่องสอน
อำเภอขุนยวม ตั้งอยู่ทางทิศใต้ ของจังหวัดแม่ฮ่องสอน เป็นเมืองเล็กๆที่ซ่อนอยู่ในขุนเขาและสายน้ำ ประชากรมีเชื้อสาย ทั้งชาวไทยใหญ่ ปกาเกอะญอหรือกะเหรี่ยง คนเมือง ม้ง และลัวะ นับเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของแม่ฮ่องสอน และของภาคเหนือ นอกเหนือจากเป็นเมืองที่สงบ มีธรรมชาติที่งดงามแล้ว ที่แห่งนี้มีประวัติศาสตร์เกิดขึ้นในยุคของสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อทหารญี่ปุ่นเคยใช้สถานที่ใน อ.ขุนยวม เป็นที่จัดตั้งกองทัพภาคพายัพ ใช้เป็นทางผ่านให้ญี่ปุ่นไปโจมตีฝ่ายสัมพันธมิตร ในมลายู พม่า และอินเดีย และประเทศไทยได้ลงนามเป็นสหายร่วมรบกับญี่ปุ่นในครั้งนั้น โดยมีการตั้งฐานทัพ เส้นทางเชียงใหม่-ตองอู เริ่มจากบ้านแม่มาลัย อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ ถึง อ.ปายแล้วลงมาถึง อ.ขุนยวม จ.แม่ฮ่องสอน และมีเรื่องราวเกิดขึ้นมามากมายทั้ง ความโหดร้ายของสงคราม ความรัก ความผูกพัน ระหว่างทหารญี่ปุ่นกับชาวบ้านในพื้นที่
เมื่อใครไปเยือน อ.ขุนยวม ก็ไม่พลาดที่จะไปชม และศึกษาเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ ที่ อนุสรณ์สถานมิตรภาพไทย-ญี่ปุ่น ที่จัดตั้งเป็นพิพิธภัณฑ์ ตั้งอยู่ด้านฝั่งตะวันตกเฉียงเหนือของวัดม่วยต่อ อ.ขุนยวม ติดริมถนน เส้นทางหลวงหมายเลข 108 แม่ฮ่องสอน-แม่สะเรียง ที่นี่มีการจัดแสดงนิทรรศการความเป็นมาของกองทัพญี่ปุ่น ที่มาตั้งฐานที่มั่นในเมืองนี้ โดยก่อนเข้าชมนิทรรศการจะมีการฉายภาพยนตร์สารคดีเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของสงครามโลกครั้งที่ 2 จนถึงทหารญี่ปุ่นมาตั้งฐานทัพที่ขุนยวม
เมื่อเข้าไปในส่วนจัดแสดง จะพบกับสิ่งของเครื่องใช้ เครื่องแต่งกาย การแพทย์ อาวุธที่ใช้ในสงครามประเภทต่างๆ ที่เป็นของจริงในสงครามครั้งนั้น และมีการเก็บรักษาไว้เป็นอย่างดี เป็นที่น่าตื่นตาตื่นใจเป็นอย่างมาก เมื่อได้มาสัมผัสกับประวัติศาสตร์ครั้งเกิดสงครามโลก ที่แสนโหดร้ายต่อมวลมนุษยชาติ เราพบหมวกทหารที่เป็นเหล็กจัดแสดงไว้หลายใบ บางใบมีรูกระสุนเจาะที่หมวกด้วย ทำให้จินตนาการถึงเจ้าของหมวกและความเจ็บปวดของสงคราม โดยหมวกเหล็กทหารญี่ปุ่นนั้น มีลักษณะโค้งกลมด้านในบุด้วยผ้า ด้านหน้าหมวกระดับนายทหาร จะมีตราดาวอันเป็นสัญลักษณ์ของกองทัพ ส่วนหมวกของจ่า นายสิบ จนถึงพลทหารจะไม่มีตราหน้าหมวก โดยจะใช้หมวกลักษณะนี้จนสงครามยุติ นอกจากนี้ยังมีการจัดแสดงเครื่องแต่งกายทหารญี่ปุ่น ที่ยังอยู่ในสภาพดี ซึ่งเครื่องแบบของทหารญี่ปุ่นสัมยสงครามโลก ครั้งที่ 2 เรียกกันในกองทัพว่าแบบ ๙๘ (98 Skini Gun-I / Type 98) ประกอบไปด้วย เสื้อแขนยาวปล่อยชายสีกากีแกมเขียว หรือสรกากี คอปิด คอพับ หรือคอแบะ มีทั้งแบบกระเป๋าเสื้อสองใบที่หน้าอก และกระเป๋าเสื้อสี่ใบที่อก และชายเสื้อติดเครื่องหมายยศ และเหล่าที่คอเสื้อ สวมกางเกงขายาว หรือกางเกงขายาวชนิดรัดข้อเท้า พันผ้าพันแข้งที่ขากางเกง และสวมรองเท้าหุ้มข้อหรือรองเท้าสูงครึ่งน่อง โดยผู้ที่เป็นนายทหาร หรือสังกัดหน่วยภูเขา อาจใช้กางเกงขี่ม้ากับรองเท้าบู๊ทสูง หรือรองเท้าบู๊ทครึ่งน่อง สำหรับผู้ปฎิบัติหน้าที่ในเขตร้อน จะใช้เสื้อคอเชิ้ตพับแขนหรือแขนสั้น สีกากีแกมเขียวหรือสีกากี มีกระเป๋าเสื้อที่หน้าอกสองใบ ไว้ชายเสื้อในเอวกางเกงเพิ่มเติมได้
สำหรับสิ่งของเครื่องใช้ประจำตัวทหารญี่ปุ่น ประกอบด้วย 1.เครื่องรางของขลัง ซึ่งเป็นเครื่องรางจากวัดที่มีชื่อเสียงของญี่ปุ่น 2.กล่องเอกสาร แผนที่ พิมพ์เขียว 3.กล้องถ่ายรูป 4.ตลับเมตร 5.แว่นขยาย 6.ป้ายชื่อ 7.เข็มทิศ 8.อุปกรณ์เครื่องเขียน 9.แว่นตา 10.เงินเหรียญญี่ปุ่น 11.หัวเข็มขัด และ 12.แปรงสีฟัน “ชิเซโด้” ส่วนเวชภัณฑ์ที่พกประจำตัว ได้แก่ ขวดยาแก้ปวดท้อง กล่องบรรจุเข็มฉีดยาและกระบอกฉีดยา ขนาด 5 ซี.ซี. กล่องบรรจุเครื่องมือผ่าตัด ขวดแอลกอฮอล์ ครกบดยา และภาชนะต้มอุปกรณ์การแพทย์ นอกจากนี้ยังมีการจัดแสดงภาชนะบรรจุอาหารและเครื่องดื่ม โดยทหารญี่ปุ่นนำมาใช้ในค่ายพักใกล้กับวัดม่วยต่อ เมื่อสิ้นสุดสงคราม นำมาแลกเสบียงอาหารจากชาวบ้านขุนยวม
สำหรับโศกนาฎกรรมของทหารญี่ปุ่น การสู้รบในพม่าและอินเดีย มักเป็นการสู้รบในป่า ทหารญี่ปุ่นจำนวนมากไม่เพียงแต่จะได้รับบาดเจ็บเท่านั้น ยังต้องเผชิญกับโรคมาลาเรียอันร้ายแรง บางนายต้องเดินทัพจากพม่าโดยไม่มียานพาหนะ โรงพยายาลสนามของทหารญี่ปุ่นที่วัดม่วยต่อ กลายเป็นแหล่งรวมทหารเจ็บป่วยที่แพ้สงคราม แล้วถอนกำลังจากพม่ามารวมกันในประเทศไทยหลายหมื่นนาย มีทหารไม่น้อยที่เสียชีวิตตามเส้นทางหรือตามที่ตั้งค่าย โดยชาวบ้านเล่าสภาพของกองทหารญี่ปุ่นในเวลานั้นว่า “รู้สึกสงสารตอนที่เขาแพ้มา ทุกข์มาก น่าเห็นใจ ต้องทานข้าว ขิง เกลือ เป็นอาหาร ไม่มีตังค์ และจน บางพวกบาดเจ็บ มีแขนข้างเดียว ขาข้างเดียว ใช้ไม้เท้า ตอนไปไม่รู้ไปทางไหน แต่ขากลับมากันเยอะมาก” (บันทึกในนิทรรศการ)
“สงคราม” มีแต่สร้างความสูญเสีย และความเจ็บปวดอย่างแสนสาหัสกับมนุษย์โลก แม้วันเวลาจะผ่านไปนานเท่าใด ความทรงจำเกี่ยวกับประวัติศาสตร์เหล่านี้ ยังมิถูกลืมเลือนไปได้ หากใครมีโอกาสไป อ.ขุนยวม จ.แม่ฮ่องสอน แนะนำให้ไปเยือนอนุสรณ์สถานมิตรภาพไทย-ญี่ปุ่น แห่งนี้ เปิดทุกวัน เวลา 08.30 – 16.30 น.
นพนิวัตร์ ไกรฤกษ์ ภาพ/บทความ